top of page

สายป่าสายแคมป์ เที่ยวหน้าหนาวนี้ระวังตัวไรอ่อนกัดทำให้เป็นโรคไข้รากสาดใหญ่

Updated: Nov 28, 2023

เมื่อถึงฤดูหนาวหรือช่วงปลายปี การท่องเที่ยวแบบแคมป์ปิ้งก็กลับมาเป็นหนึ่งในการท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม โดยจุดที่นิยมก็จะเป็นตามดอย เพื่อไปดูหมอกสวยๆ ดูพระอาทิตย์ขึ้น สัมผัสอากาศหนาวๆ จิบกาแฟอุ่นๆในตอนเช้า แต่สิ่งหนึ่งที่นักท่องเที่ยวต้องระวังคือ ความเสี่ยงที่จะถูกตัวไรอ่อนที่อยู่ในป่ากัด ซึ่งอาจติดเชื้อและป่วยเป็นไข้รากสาดใหญ่ หรือ สครับไทฟัส (Scrub Typhus)



กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แนะนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปกางเต้นท์ในป่าเขาเพื่อสัมผัสอากาศหนาว ให้ระมัดระวังถูกตัวไรอ่อนกัด อาจเสี่ยงป่วยด้วยโรคไข้รากสาดใหญ่ เผยข้อมูลปีนี้พบผู้ป่วยเกือบครึ่งหนึ่งอยู่ในภาคเหนือ การป้องกันคือให้สวมใส่เสื้อที่ปิดคอ เสื้อแขนยาวและกางเกงขายาว ร่วมกับการใช้ทายากันแมลงกัด




โรคไข้รากสาดใหญ่ หรือโรคสครับไทฟัส (Scrub typhus)

เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในกลุ่มริกเก็ตเซีย (Rickettsia) ซึ่งมีตัวไรอ่อนเป็นพาหะ อาศัยอยู่ตามกอไม้กอหญ้าใกล้กับพื้นดิน จะกัดคนหรือสัตว์เพื่อกินน้ำเหลืองเป็นอาหาร โดยไรอ่อนจะไต่ไปตามยอดหญ้าแล้วกระโดดเกาะตามเสื้อผ้าของคนและกัดผิวหนังที่สัมผัสกับเสื้อผ้า ปกติเราจะมองไม่เห็นตัวไรอ่อนเพราะมีขนาดเล็กมากราว 1 มิลลิเมตรเท่านั้น ส่วนใหญ่บริเวณที่ถูกกัด คือ รักแร้ ขาหนีบ รอบเอว


อาการที่พบ

หากถูกตัวไรอ่อนที่มีเชื้อกัดประมาณ 10-12 วัน จะมีอาการ ปวดศีรษะ มีไข้ หนาวสั่น ไอ ตาแดง คลื่นไส้อาเจียน ปวดเมื่อยตัว อ่อนเพลีย และบริเวณที่ถูกกัดอาจจะมีผื่นแดงขนาดเล็กค่อยๆ นูนหรือใหญ่ขึ้นและอาจจะพบแผลคล้ายบุหรี่จี้ (Eschar) แต่จะไม่ปวดและไม่คัน ผู้ป่วยบางรายอาจหายได้เอง แต่บางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้ เช่น ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองและสมองอักเสบ และอาจทำให้เสียชีวิตได้



แนะนำหลีกเลี่ยงการเข้าไปในบริเวณที่มีตัวไรอ่อนชุกชุม ไม่ว่าจะเป็นป่าโปร่ง ป่าละเมาะ บริเวณที่มีการปลูกป่าใหม่หรือตั้งรกรากใหม่ ทุ่งหญ้า ชายป่า หรือบริเวณต้นไม้ใหญ่ที่แสงแดดส่องไม่ถึง หลังออกจากป่าให้อาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย สระผม และนำเสื้อผ้าที่สวมใส่มาซักให้สะอาดด้วยผงซักฟอกเข้มข้น เพราะอาจมีตัวไรอ่อนติดมากับร่างกายหรือเสื้อผ้าได้


หากมีอาการไข้และอาการข้างต้น ควรรีบไปพบแพทย์ทันที พร้อมแจ้งประวัติการเข้าป่าให้แพทย์ทราบ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422




ขอบคุณข้อมุลจาก

https://www.hfocus.org/


12 views0 comments

Comments


bottom of page